13 มกราคม 2568 17:04 น.
สยามรัฐออนไลน์
เศรษฐกิจ
จากกรณีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน พบการติดตั้ง Fineasy แอพพลิเคชั่นกู้เงิน บนโทรศัพท์มือถือแบรนด์ OPPO และ Realme แบบอัตโนมัติ โดยผู้ใช้งานไม่ได้เป็นผู้ดาวน์โหลดเอง และไม่สามารถลบแอพพลิเคชั่นดังกล่าวออกได้ จนสร้างความตระหนกให้กับผู้ใช้สมาร์ทโฟนทั้ง 2 แบรนด์ เนื่องจากเกรงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวในเครื่อง
วันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญทั้ง 2 บริษัทคือ บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO และบริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Realme เข้าพบโดยตัวแทนจากบริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป กล่าวยอมรับว่า Fineasy ไม่ได้ขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) และเป็นการติดตั้งมาจากโรงงาน ขณะที่ตัวแทนจากบริษัท โปรทา กล่าวยอมรับไปในทิศทางเดียวกับ โพสเซฟี่ กรุ๊ป ทั้งนี้ OPPO และ Realme เป็นเจ้าของเดียวกันและมาจากโรงงานเดียวกัน
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการกสทช. กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับผู้บริหารโทรศัพท์มือถือ กรณีการติดตั้งแอปพลิเคชันให้บริการสินเชื่อมากับโทรศัพท์มือถือว่า ที่ประชุมให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 37 (2) กรณีที่ต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องดำเนินการเพื่อป้องกันมิให้ผู้นั้นใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
ให้ผู้ผลิตโทรศัพท์ทั้ง 2 บริษัท มีมาตรการเร่งด่วน คือ กรณีเครื่องที่จำหน่ายไปแล้วให้มีช่องทางในการดำเนินการลบแอปที่มีปัญหาออก สำหรับเครื่องใหม่ที่ยังไม่จำหน่ายต้องดำเนินการไม่ให้มีแอปที่มีปัญหาอยู่ในเครื่อง ห้ามจำหน่ายเครื่องที่ยังมีแอปสินเชื่ออยู่
“ให้ออปโป้และเรียลมี จะดำเนินการส่งการอัปเดตแบบ Over-the-Air (OTA) ไปยังเครื่องของผู้ใช้บริการเพื่อให้เจ้าของเครื่องดาวน์ โหลดเพื่อถอนโปรแกรมที่มีปัญหาออกเอง”
พร้อมทั้งให้ผู้ประกอบการ ดำเนินการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา37 (2) แจ้งข้อมูลการเก็บรวบรวมข้อมูล การใช้ข้อมูล ให้ สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สลส. ) ทราบภายในวันที่ 16 มกราคม 2568 ทั้งนี้เบื้องต้น ตัวแทนของค่ายผู้ผลิตโทรศัพท์แจ้งว่าการเก็บข้อมูลดำเนินการโดยเจ้าของแอปเป็นคนดูแล การตรวจสอบข้อมูล และผู้ให้บริการสินเชื่อคือเจ้าของซอฟแวร์
สำหรับผู้ที่ใช้แอปขอสินเชื่อไปแล้วและเกิดความเสียหายให้แจ้งมายังสคส. หากตรวจสอบแล้วมีการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมาย ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินสามล้านบาท ขณะนี้สิ่งที่ทำได้หรือดำเนินการเพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความเสียหาย ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ จะมีการตรวจสอบต่อไป