วันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ประชาชนชาวสิงคโปร์ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจำนวนราว 2.75 ล้านคน จากประชากรทั้งสิ้นของประเทศกว่า 6 ล้านคน จะได้เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้งเพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส.ของพวกเขา

ภายหลังจากประธานาธิบดีทาร์มาน ชานมูการัตนาม แห่งสิงคโปร์ ประกาศยุบสภา เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ในการเลือกตั้งทั่วไปของสิงคโปร์ครั้งนี้ ก็จะเป็นการเลือกสมาชิกสภานิติบัญญัติของประเทศ รวมแล้ว 97 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว คือ 2020 (พ.ศ. 2563) ที่มีจำนวน 93 ที่นั่ง

ทั้งนี้ การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นนั้น ก็ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 19 นับตั้งแต่สิงคโปร์สถาปนาขึ้นเป็นประเทศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1965 (พ.ศ. 2508) ดังนั้น จึงนับว่า มีความสำคัญ จากการที่ประเทศจะมีอายุครบ 60 ปี ในปีนี้

เรียกว่า ถ้าเป็นคน ก็ต้องเฉลิมฉลองเนื่องในงานแซยิด

นายลอว์เรนซ์ หว่อง ผู้สืบทอดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ จากนายลี เซียนลุง (Photo : AFP)

อย่างไรก็ดี ในการชิงชัยศึกเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ กลับปรากฏว่า มิใช่คนตระกูล “ลี” ซึ่งเป็นตระกูลผู้นำก่อร่างสร้างประเทศสิงคโปร์ จนก้าวผงาดขึ้นมาเป็นประเทศระดับชั้นนำของโลกในหลายๆ ด้าน เช่น เศรษฐกิจ และการศึกษา เป็นต้น มาถือธงนำในฐานะหัวหน้า “พรรคกิจประชาชน” หรือ “พีเอพี (PAP : People’s Action Party)” เหมือนเฉกเช่นแทบทุกครั้งที่ผ่านมา

โดยที่ผ่านมา ผู้นำตระกูล “ลี” ของสิงคโปร์ ก็คือ “ลี กวนยิว” ผู้ก่อตั้งประเทศ จนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศสิงคโปร์ ก่อนตกทอดมาถึง “ลี เซียนลุง” ผู้บุตรชาย ก็เป็นผู้นำประเทศ คือ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคกิจประชาชนข้างต้น นำทัพจนได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือตั้งทั่วไปตลอดช่วงที่ผ่านมา

ทว่า มาในการเลือกตั้งทั่วไป 2025 (พ.ศ. 2568) ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้านี้ ก็เป็นคนตระกูลอื่น นอกตระกูลลี นั่นคือ “ลอว์เรนซ์ หว่อง” นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจาก “ลี เซียนลุง “ และยังรวมถึงการเป็นผู้นำพรรค หรือหัวหน้าพรรค ของพรรคกิจประชาชนไปโดยปริยายด้วย สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้น

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคกิจประชาชน หรือพีเอพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของสิงคโปร์ (Photo : AFP)

ทั้งนี้ นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของสิงคโปร์ ก็จะนำ “พรรคกิจประชาชน” หรือ “พีเอพี” ต่อกรสู้ศึกเลือกตั้งกับอีก 2 พรรคการเมือง นั่นคือ “พรรคแรงงาน” หรือ “ดับเบิลยูพี (WP : Worker’s Party)” ซึ่งมี “นายปรีตัม สิงห์” เป็นหัวหน้าพรรค และ “พรรคสิงคโปร์ก้าวหน้า” หรือพีเอสพี (PSP : Progress Singapore Party)” ที่มี “นายลอง มันไว” เป็นผู้นำพรรค

ผู้สนับสนุนพรรคแรงงาน หรือดับเบิลยูพี ชูธงรูปค้อน สัญลักษณ์ของพรรค ออกรณรงค์หาเสียง (Photo : AFP)

โดยความไว้เนื้อเชื่อใจของเหล่าแกนนำพรรคพีเอพีที่มีต่อนายลอว์เรนซ์ หว่อง ตลอดจนคนในตระกูลลี ก็ต้องถือว่า เชื่อมั่นเป็นอย่างมาก เพราะถึงขนาดที่นายลี เซียนลุง “ส่งไม้ต่อ” ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ให้ ซึ่งนายลอว์เรนซ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ชอย่างเป็นทางการต่อจากนายลี เซียนลุง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2024 (พ.ศ. 2567) หรือปีที่แล้วนี่เอง โดยอีกไม่กี่วันก็จะครบรอบ 1 ปี ที่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศแห่งนี้

และก็ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี ที่นายลอว์เรนซ์ หว่อง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมา ก็นำพาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ ขยายตัวเติบโตอย่างน่าพึงพอใจ ด้วยฝีไม้ลายมือ ที่เขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของประเทศมาก่อน จึงนับได้ว่าเขาก็เป็น “หนึ่ง” ในผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านเศรษฐกิจ การคลังของสิงคโปร์เลยก็ว่าได้

ท่ามกลางที่สิงคโปร์ ซึ่งก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ หลายประเทศบนโลกใบนี้ ที่ถูกพิษของวิกฤติโรคระบาด “โควิด-19” ที่เล่นงาน แม้ว่าเชื้อไวรัสร้ายได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็ยังเดือดร้อนตามมาอีกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลกระทบทางอ้อมที่ได้รับจากสงครามความขัดแย้งต่างๆ บนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในภูมิภาคยุโรป และสงครามฉนวนกาซา ในภูมิภาคตะวันออกกลาง แต่นายลอว์เรนซ์ หว่อง ก็ยังบริหารประเทศ นำพาจนสิงคโปร์ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2024 ที่ผ่านมาถึงร้อยละ 4.4 ด้วยกัน

ตัวเลขข้างต้น ก็นับได้ว่า มากกว่าที่หลายฝ่ายประมาณการกันไว้ก่อนหน้า

ไม่ว่าจะเป็น “กระทรวงการคลังของสิงคโปร์” ที่ประเมินก่อนหน้านั้นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ประมาณร้อยละ 4 เท่านั้น และตัวเลขดังกล่าว ก็เพิ่มขึ้นจากตัวเลขของเมื่อปี 2023 (พ.ศ. 2566) ถึงร้อยละ 1.8 ด้วยกัน

นอกจากนี้ นายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้รับเสียงชื่นชมจากการที่เขารับมือกับมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งสิงคโปร์ ประเทศที่เขาเป็นนายกฯ นั้น ถูกพิษภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์เล่นงานโดยถูกจัดเก็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 10

ทั้งนี้ นอกจากการรับมือแล้ว นายกรัฐมนตรีหว่อง ยังได้กล่าวเตือนสติทั้งต่อคนสิงคโปร์เอง และประชาคมโลกว่า โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่จะต้องเตรียมการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเป็นการเตรียมตัวแบบกล้าที่จะยอมรับความจริงด้วย

นั่น! เป็นฝีไม้ลายมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งเศรษฐกิจภายในและระหว่างประเทศของนายกรัฐมนตรีหว่อง ซึ่งต้องถือว่า นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์นอกตระกูลลีผู้นี้ผ่านฉลุย

ในส่วนทางด้านการเมืองภายในสิงคโปร์เองนั้น นายกรัฐมนตรีหว่อง ก็จะถูกทดสอบในบททดสอบของการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 3 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

โดยบททดสอบที่ว่านั้นก็คือ เขาจะทำอย่างไรที่จะทำให้พรรคพีเอพี รักษาที่นั่ง สส. เอาไว้ให้เท่าเดิมอย่างน้อย หรือถ้าได้ สส.เพิ่มขึ้น ก็ต้องถือว่า เป็น “โบนัส” ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้ว คือ 2020 ที่พรรคพีเอพี ยังอยู่ภายใต้การนำของคนตระกูลลี คือ ลี เซียนลุง ปรากฏว่า พรรคแรงงาน ฝ่ายค้าน สามารถแย่งชิงที่นั่ง สส. มาได้ถึง 10 ที่นั่ง จนถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ที่สุดของพรรคตั้งแต่ปี 1965 เลยทีเดียว

ส่วนผลการสำรวจโพลล์ในการเลือกตั้งทั่วไป 2025 นี้ ปรากฏว่า พรรคพีเอพี มีคะแนนนิยมนำหน้าที่ร้อยละ 63 ส่วนพรรคแรงงานมีคะแนนนิยมที่ร้อยละ 15

บรรยากาศบริเวณหน่วยเลือกตั้งแห่งของสิงคโปร์ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (Photo : AFP)