วันที่ 3 เม.ย.2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภา ที่มีนายภาราดร ปริศนานันทกุล รองประธานlสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงบ่ายนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องขอให้สภาฯ พิจารณามาตรการในการจัดการผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป ตามระเบียบข้อที่ 54(1) ภายหลังของผู้รับรับรองเสร็จ  

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขอเสนอญัตติเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม นำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันบันเทิงครบวงจ รหรือเอนเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ , รวมถึงนำร่าง พ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุข , ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมือง , และร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน โดยให้มีผลในการประชุมครั้งหน้า 

ทำให้นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ประท้วงประธาน ให้ควบคุมการประชุมว่าพรรคเพื่อไทยเสนอญัตติแทรกขึ้นมา ตนคิดว่าเป็นญัตติที่ไม่ชอบ 

นายภราดร ประธานในขณะนั้น จึงกล่าวว่า ทั้ง 2 ได้ทำตามข้อบังคับทั้งคู่ ดังนั้นเท่ากับเรามี 2 ญัตติ ขอให้พูดคุยเจรจากันก่อนได้หรือไม่ 

นายชุติพงศ์ จึงตอบกลับว่า เมื่อมีการเสนอยุตติด่วนด้วยวาจาแล้ว ญัตติที่เสนอลำดับที่ 2 เป็นคนละลักษณะกัน และเรื่องแผ่นดินไหวเท่าที่ทราบ ก็จะมีการเสนอทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ ทุกคนต้องการทราบข้อมูลรวมถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล แต่คำถามคือทำไมต้องมีการเร่งรัดเอาเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ขึ้นมา ณ เวลานี้ ดังนั้น ประธานต้องวินิจฉัยว่า เป็นการเสนอซ้อนญัตติหรือไม่ ถ้าเสนอโดยชอบแล้วจะพิจารณาอย่างไร 

“ผู้นำฝ่ายค้านของเราเสนอก่อน มีผู้รับรองแล้ว แล้วญัตติอื่นจะทำอย่างไร ไม่อย่างนั้นจะทำอย่างไรต่อกันดี” นายชุติพงศ์ กล่าว

นายภราดร จึงตอบกลับว่า ตนถึงได้บอกว่าเป็นไปตามข้อบังคับทั้งคู่ เพราะฉะนั้น จะต้องเจรจากัน ลองฝากเจรจากันสักครู่ได้หรือไม่

จากนั้นนายณัฐพงษ์ ขอหารือว่า ตามหลักการการที่เราจะมีญัตติ ถ้าเป็นเรื่องเดียวกันแต่มีความเห็นต่างสามารถมัดรวม และลงคะแนนเสียงให้เป็นคนละเรื่องกันได้ แต่การเสนอดังกล่าวเป็นคนละเรื่อง ดังนั้นถ้าตามกระบวนการที่ถูกต้องในสภา จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าสภาจะอนุมัติการพิจารณาวาระด่วน เรื่องเหตุแผ่นดินไหวก่อนหรือไม่ ก่อนจะไปเรื่องอื่น ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเสนอญัตติซ้อนญัตติ 

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม ลุกขึ้นขอหารือว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ตนเชื่อว่าทุกคนในสภา รู้ว่าฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะเสนออะไร ต้องขอบคุณผู้นำฝ่ายค้านที่ตั้งใจเสนอญัตติด่วน พวกเราทุกคนก็ทราบกันดีเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ฝ่ายรัฐบาลตนเชื่อว่าเขาก็คุยกันแล้ว ดังนั้นกระบวนการถ้าฝ่ายรัฐบาลเสนอเลื่อนกฎหมาย พอเลื่อนแล้ว ก็พิจารณาญัตติด่วนของผู้นำฝ่ายค้านได้ ตนเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายถอยคนละก้าว มันก็ไปต่อได้แค่นั้นเองไม่ได้เป็นเรื่องสลับซับซ้อน เราทั้งคู่ก็รู้ดีว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น จึงอยากให้เป็นประสงค์ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล

ต่อมานายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ลุกขึ้นกล่าวว่า เราไม่สามารถทำ 2 อย่างพร้อมกันได้ ดังนั้นต้องถามตั้งแต่ญัตติแรกที่มีการเสนอเข้าสู่สภา ต้องถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้านก็พิจารณาญัตติด่วนเรื่องแผ่นดินไหวของผู้นำฝ่ายค้าน หากมีผู้คัดค้านก็ไปพิจารณากับญัตติที่เสนอเรื่องที่ 2 ตนอยากให้พิจารณาตามลำดับ เรื่องนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุย ทางพรรคฝ่ายค้านเราเห็นตรงกันแล้วว่าเรื่องแผ่นดินไหวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังนั้นขอยืนยันว่าให้พิจารณาตามลำดับ

ทำให้นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นเรื่องของประธานที่ต้องวินิจฉัย ลำดับก่อนหลังหรืออย่างไร ตนก็แปลกใจที่เรื่องแผ่นดินไหวนี้มีการพูดคุยกันนานแล้ว และวันนี้ก็ตั้งใจจะมาพิจารณาเรื่องนี้กัน ซึ่งฝั่งรัฐบาลก็เตรียมญัตติด่วนด้วยวาจาที่จะเสนอเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ผู้นำฝ่ายค้านก็เสนอมันมีการพูดคุยกันไปแล้ว ตนคิดว่าน่าจะหาทางออกได้ ด้วยสภาพข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ตนชื่อว่า สส. สนใจเยอะมาก อาจจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาเรื่องแผ่นดินไหวเยอะ แต่พวกเราตรงนี้พร้อมแล้ว ญัตติด่วนเลื่อนระเบียบวาระมันเป็นญัตติเพื่อเลื่อนไปพิจารณาในสัปดาห์หน้า ไม่ได้หมายความว่าเลื่อนมาพิจารณาในสัปดาห์นี้ เพราะฉะนั้น หากดูตามข้อเท็จจริง อยากจะขอให้ทุกคนมาให้ความเห็นชอบในการเลื่อนระเบียบวาระก่อน หลังจากนั้นก็เข้าสู่การพิจารณาเรื่องแผ่นดินไหว สภาจะทำหน้าที่อย่างสง่างาม ตามสิ่งที่ประชาชนต้องการติดตาม 

“ถ้ามาแย่งชิงจังหวะกันอย่างนี้ไม่จบ มันไม่จบจริงๆ อาศัยจังหวะขึ้นแล้วซีกนี้ต้องยอม ถ้าไม่ยอมประชาชนด่า เพราะคุณไม่เห็นความสำคัญของแผ่นดินไหว มันเป็นวิธีการที่ผมเชื่อว่า มันไม่สง่างามและไม่เหมาะสมหรอกครับ ความจำเป็นของฝ่ายรัฐบาลที่จะเอาที่จะเอากฎหมายนโยบายเชิงนโยบายเข้า มันก็เป็นเรื่องของเสียงข้างมาก ถ้าอย่างนั้นขอให้โหวตว่าจะเอาเรื่องใดก่อน ให้เป็นมติสภาตัดสินไป ท่านประธานถามเลยครับ ในสภาแห่งนี้ ไม่มีใครถูกที่สุด เสียงข้างมากถูกที่สุด“ นายแพทย์ชลน่าน กล่าว

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานฝ่ายค้าน จึงลุกตอบโต้ว่า เรายืนยันในขั้นตอน ผู้เสนอก่อน ก็ควรจะได้พิจารณาญัตติก่อน จริงๆก็เป็นไปตามที่นายแพทย์ชลน่านพูด ว่ามีคนสนใจจำนวนมาก แต่ก็ไม่เข้าใจว่าถ้ามันมากแล้วจะทำไม

“ผมก็อยู่ที่นี่ 2-3 ทุ่มก็ยังอยู่ หรือจะยอมว่า 2-3 ทุ่ม ฝั่งนั้นไม่มีคนอยู่ลงมติกันแล้ว พูดกันมาตรงๆ เลยก็ได้ว่าควบคุมองค์ประชุมจนถึง2-3ทุ่มแล้วค่อยเลื่อนระเบียบวาระกันไม่ได้ ในเมื่อตอนนี้ ขั้นตอนผู้นำฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอญัตติ และผมก็กังวลว่า ถ้าจะมาโหวตว่าอะไรก่อนหลัง เราลองวินิจฉัยก่อนดีหรือไม่ ว่าเป็นญัตติสอนญัตติหรือไม่ ผมทิ้งท้ายไว้ว่า แนวคิดที่บอกว่าเสียงข้างมากถูกต้องที่สุด มันอันตรายต่อประชาธิปไตยอย่างยิ่ง“ นายปกรณ์วุฒิ กล่าว

ส่วนนายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แผ่นดินไหวเป็นเรื่องใหญ่โต ทั้งในสภาและนอกสภา 2 ญัตติดังกล่าวแม้ว่าจะเขย่งกันอยู่ แม้ว่าญัตติของผู้นำฝ่าย จะเป็นญัตติที่น่าสนใจของคนไทยและคนทั่วโลก แต่ญัตติเลื่อนระเบียบวาระก็ไม่ได้หมายความว่าจะพิจารณากันในวันนี้ ถ้าลงมติทั้ง 2 ญัตติ มันก็สามารถเดินหน้าต่อไป ไม่ต้องลำบากใจเลยท่านประธานก็ทำถูก ผู้นำฝ่ายค้านก็ทำถูก รัฐบาลก็ทำถูก

จากนั้นได้มีสมาชิกลุกขึ้นขอหารือทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล จนนายอรรถกร ลุกขึ้นหารืออีกรอบ ตนก็อยากเสนอญัตติ แต่ที่ยังไม่ค้านก็เพราะรอฟังอยู่ ว่าภายหลังผู้นำฝ่ายค้านเสนอแล้วรัฐบาลจะเสนออะไร ตนก็อยากเสนอของตนเหมือนกัน แล้วให้ที่ประชุมแห่งนี้เลือก ญัตติของตนคืออยากให้สภาแห่งนี้ พิจารณาเรื่องการเลื่อนกฎหมาย  แต่ปรากฏว่ายังพูดพูดไม่ทันจบ นายภราดรได้ปิดไมค์ แล้วกล่าวว่ามี 2 ญัตติก็ปวดหัวแล้ว อย่าให้เป็น 3 ญัตติ เรามีข้อ 2 ทางเลือก ทางเลือกที่ 1 แข่งกันระหว่างญัตติของผู้นำฝ่ายค้านกับนายอนุสรณ์ หรือทางเลือกที่ 2 คือ พิจารณาตามญัตติก่อนหลัง เรามีสองทางเลือกกันเท่านี้ ตนคิดว่าเราควรคุยกัน 

จากนั้นนายรังสิมันต์ ทักท้วงต่อ ว่าต้องพิจารณาตามลำดับไม่ใช่นำมาปะปนกัน เรื่องนี้ไม่ต้องมีการพูดคุยเจรจาทั้งสิ้น ประธานสามารถวินิจฉัยได้เลย ทำให้นายภราดร กล่าวว่าขอให้ไปตกลงกัน และขอพักการประชุม 10 นาที