หมายเหตุ : “ศักดา นพสิทธิ์” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ออกอากาศทางช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย กับประเด็นร้อนที่กำลังจะกลายเป็น “เงื่อนไข” นำไปสู่จุดพลิกผันทางการเมืองไทย ตามมา ทั้ง “คดี44 อดีตสส.ก้าวไกล” และ “คดีชั้น 14” ซึ่งอยู่การพิจารณาของคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึงคดีความผิดในมาตรา 112 ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จะทำให้เขาต้องตัดสินใจ “หนี” อีกครั้ง หรือปักหลักสู้ได้อีกยาว
– หลายพรรคต่างถอดบทเรียนหลังการเลือกตั้งอบจ.เมื่อวันที่ 1 ก.พ.68 โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยเอง ซึ่งมีรายงานว่า คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯเองไม่พอใจเพราะมีการแพ้ในเขตที่ตั้งเป้าเอาไว้
ในการเลือกตั้งอบจ.รอบนี้ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นด้านหลักในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง และรวมถึงพรรคอื่นด้วย อาจจะต้องถอดบทเรียน แต่ที่ผมมองเห็นว่าน่าจะต้องถอดบทเรียนได้คล้ายกันอย่างหนึ่งคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น การเมืองที่มีบ้านใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ ประการต่อมาการใช้สรรพกำลังทั้งหลาย ไม่ว่าบุคลากรในการเลือกตั้งในพื้นที่ ตัวผู้สมัครนายกอบจ. รวมถึงทีมงานและความใกล้ชิด ทั้งผู้สมัครเป็นที่สมาชิกสภาอบจ.กับท้องถิ่น ต่างมีส่วนร่วมในการผลักดัน ในการเลือกตั้งสนามท้องถิ่น ซึ่งจะแตกต่างจาก สนามระดับชาติ
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทุกพรรคการเมืองต้องเอามาถอดบทเรียน แรกเริ่มเดิมทีสนามเลือกตั้งท้องถิ่นนี้ จะนำไปสู่การเลือกตั้งสนามใหญ่ คือการเลือกตั้งสส. ในปี 2570 แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่าหลายอย่างที่คิดค้นกันว่าน่าจะใช่ อาจจะมีปัจจัยเป็นตัวแปรมากขึ้น กว่าเดิมที่คิด เราเห็นร่องรอยจากการช่วงชิงพื้นที่ การรักษาพื้นที่ และการทำงานในเชิงนโยบาย การปราศรัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเสมอไป 80-90 % เราเห็นได้ว่านายกอบจ.เดิมที่เป็นแชมป์ ยังคงได้รับความนิยม และได้รับการเลือกตั้งเข้ามา จุดนี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองต้องกลับมาสนับสนุน
เพราะการเลือกตั้งในสนามสส.นั้นการช่วงชิงให้ได้คะแนน เสียงมากขึ้นจนถึง ครึ่งหนึ่งของสส. คือ 250 ที่นั่ง จะเป็นไปได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครได้มากเท่าขนาดนั้น เพราะฉะนั้นสนามของการช่วงชิงจึงเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ที่ผ่านมาการที่สนามอบจ.ไม่สามารถช่วงชิงได้ และจะเห็นได้ว่านายกอบจ.ที่กลับเข้ามาได้เป็นการรักษาแชมป์ทั้งนั้น จึงเป็นเรื่องหนักใจพอสมควร ถ้าหากจะเทียบว่า สนามท้องถิ่นอย่างนายกอบจ.จะเป็นตัวจำลอง สนามรบในครั้งหน้า อาจจะไม่ได้เป็นไปตามหลักการหรือทฤษฎี ที่วางเอาไว้
-สนามเลือกตั้งอบจ.ในพื้นที่ภาคใต้
ถือว่าเป็นสนามเลือกตั้งที่น่าสนใจ เนื่องจาก 14 จังหวัดภาคใต้ พรรคเพื่อไทยเองยังไม่ได้รับความไว้วางใจ ยังไม่ได้รับความนิยม ในขณะที่ความมุ่งหวังของพรรคเพื่อไทยที่อยากได้สส.เพิ่มขึ้น ในการเลือกตั้งปี 2570 แต่ก็ยังทำไม่ได้ และเรายังเห็นร่องรอยชัดเจนว่าการเลือกตั้งอบจ.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครอบจ.ลงเลย จึงกลายเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคประชาธิปัตย์ ลงไปแข่งขันกัน
ฉะนั้นในสนามเลือกตั้งภาคใต้ ซึ่งจะมีสส.ได้ 50 กว่าคน รวมทั้ง3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีลักษณะของการช่วงชิงเป็นด้านหลัก แต่เป็นการคืบคลานเข้าไปของพรรคภูมิใจไทยทั้งสิ้น แต่มีข้อที่น่าสังเกตว่าพรรคกล้าธรรม ก็พยายามที่จะลงไปเช่นนราธิวาส ที่มีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา และประธานพรรคกล้าธรรม จับมือกับ คุณชาดา ไทยเศรษฐ์ แกนนำพรรคภูมิใจไทย คิดว่าจะใช้โมเดลนครศรีธรรมราช เป็นต้นแบบ ส่วนพรรคประชาชาติก็พยายามที่จะรักษาไว้ ซึ่งสามารถรักษาได้จริงในพื้นที่ยะลา และนราธิวาส
แต่เมื่อถึงสนามการเมืองใหญ่ สมการจะเปลี่ยนไปหมดที่จะคิดว่า จะไปช่วงชิงและเติมเต็มสส. ผมคิดว่าบทเรียนและปัจจัยภายนอกที่เอามาใช้ อาจจะจำลองกันไม่ได้ว่า เลือกนายกอบจ.ได้แล้ว สส.ก็จะต้องได้เหมือนกัน
-2 คดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการป.ป.ช. คือคดีชั้น 14ที่มี คุณทักษิณ เข้าไปเกี่ยวข้อง และคดี 44 อดีตสส.ก้าวไกล ที่เสนอแก้ไขมาตรา 112 ผลของ2คดีนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตามมาได้หรือไม่
เรื่องของกรณี 44 อดีตสส.ก้าวไกล กับคดีชั้น 14 ถือว่าเป็นคนละกรณีกัน เรื่องของพรรคประชาชน หาก44 อดีตสส.ก้าวไกล ถูกป.ป.ช.ชี้มูล แล้วส่งฟ้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตัวเลขของสส.ในสภาฯอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าเรื่องนี้อาจจะยังไม่ถึงการตัดสินก็แล้วแต่ แต่การหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะทำให้สมการของสภาฯเปลี่ยนไป ซึ่งอาจจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนครม.ได้เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่จำเป็น จะต้องมีเสียงข้างมาก ถึง 300 เหมือนตอนที่ตั้งรัฐบาล “แพทองธาร 1” ก็เป็นได้ แต่ต้องรอว่า หากป.ป.ช.ชี้มูลแล้ว จากนั้นมีการส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้ศาลอาจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่สส. เมื่อหยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นมือในสภาฯ อาจไม่จำเป็นต้องใช้พรรคร่วมรัฐบาล ที่มีเสียงมาก จุดนี้จะเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่การปรับครม.เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นสูตรที่พรรคเพื่อไทย คิดค้นเรื่องนี้ว่าอาจจะปรับครม.ในช่วงนี้ได้
ส่วนประเด็น เรื่อง ชั้น 14 ต้องยอมรับว่าในคำฟ้องในหลักการของกฎหมาย การร้องเรียนชั้น 14 สภาพบังคับจากการร้องเรียน จะไปไม่ถึงตัว คุณทักษิณ อย่างสิ้นเชิง เพราะสภาพบังคับ ร้องไปที่ผู้กระทำ คือกรมราชทัณฑ์ แพทย์ เจ้าหน้าที่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม กุมขัง ที่มีกล่าวหาว่าคุณทักษิณ ไม่ได้ป่วยจริง แต่นำตัวออกจากเรือนจำไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ
ทั้งนี้หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่มีการร้อง ว่าคุณทักษิณ ไม่ได้ป่วย สภาพบังคับที่ศาลจะวินิจฉัยได้คือคนที่เกี่ยวข้องอาจจะโดนข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้น ยังไปไม่ถึงคุณทักษิณ แต่ประเด็นการเมือง จะมีความสั่นคลอนว่า เมื่อเกิดข้อเท็จจริงตรงนี้ขึ้น หากผลของพิสูจน์ของป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ อาจจะเป็น “สารตั้งต้น” หรือเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การร้องเรียนต่อไปว่าอดีตนายกฯทักษิณ มีส่วนรู้เห็นหรือไม่ รวมถึงนายกฯแพทองธาร มีส่วนรับรู้ หรือมีผลต่อการสั่งการบริหารราชการให้ผิดไปจากระเบียบ กฎหมายหรือไม่ ซึ่งจุดนี้จะมีผลต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล ในฐานะที่อดีตนายกฯทักษิณ เป็นผู้ประคับประคองรัฐบาลชุดนี้
ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล จะได้รับกระทบเรื่องของความน่าเชื่อถือ ตามมา และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่จนครบเทอม อีก 2ปีเศษหรือไม่ หรือมีเหตุที่จะต้องเปลี่ยนตัว นายกฯก่อนครบวาระ
– คุณทักษิณ ยังมีความผิดคดีมาตรา 112 และล่าสุดได้ขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปมาเลเซีย พบกับว่าอันวาร์ อิบราฮิม นายกฯมาเลเซีย มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าต่อไปเมื่อคดีใกล้เข้ามา คุณทักษิณ อาจจะขอศาลออกนอกประเทศอีก แล้วไม่กลับมา เป็นการมองที่ไกลเกินไปหรือไม่
ผมคิดว่าน่าจะไกลเกินกว่าข้อเท็จจริง วันนี้อดีตนายกฯทักษิณ ได้กลับประเทศไทย ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับครอบครัวชินวัตร สำหรับพรรคเพื่อไทย และตัวคุณทักษิณเอง ดังนั้นถ้าสถานการณ์ยังไปไม่ถึงขนาดที่จะต้องจับกุม คุมขัง จึงยังไม่มีความจำเป็นอะไรที่อดีตนายกฯทักษิณ จะต้องตัดสินใจเดินทางหนีออกนอกประเทศ
เนื่องจากคดีมาตรา 112 นั้นยังมีกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลา มีการต่อสู้ มีการนำเสนอข้อเท็จจริงอีกมาก แต่สิ่งที่เห็นได้ คือการที่ศาลอาญากรุงเทพ อนุญาตให้คุณทักษิณ เดินทางออกนอกประเทศ ไปมาเลเซียได้ 2-3วันแล้วกลับมาท่านก็ไปรายงานตัวต่อศาล ถือว่าจุดนี้เป็นผลบวกของคุณทักษิณ อย่างน้อยที่สุด ก็มีบอกข้อเท็จจริงได้ว่า คุณทักษิณไม่ได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ออกนอกประเทศ หรือเป็นบุคคลอันตรายที่จะหลบหนี
ประการต่อมา การที่คุณทักษิณ จะหลบหนีนั้นยังไม่มีเหตุจำเป็น แม้ว่าคดีมาตรา 112 จะเริ่มพิจารณา โดยนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1 ก.ค.68 ก็ตาม แต่ถึงแม้ศาลจะตัดสินว่าผิดก็ตามหรือจะยกฟ้อง กระบวนการก็มิไม่ได้ยุติลงแค่นั้น ยังสามารถอุทธรณ์ไปได้อีก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี และเมื่อุทธรณ์แล้วก็ยังมีสิทธิที่จะฎีกา ต่อไปได้อีก แม้ผลคดีจะเป็นบวกหรือลบก็ตาม เท่ากับว่าจะไปสุดอยู่ที่ศาลฎีกาอยู่ดี ฉะนั้นกระบวนการตั้งแต่วันนี้ แล้วไปเริ่มต้นสืบพยานในวันที่ 1 ก.ค.68 กว่าคดีจะถึงที่สุด ผมเชื่อว่าต้องใช้เวลาหลายปี ไม่น้อยกว่า 2-3 ปี
ดังนั้นการที่จะไปสรุปแล้วคิดว่าจะทำอะไร อย่างไร นั้นคิดว่ายังไกลเกินไป จึงตอบว่า การที่มีกระแสข่าวว่าคุณทักษิณ จะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ผมจึงคิดว่าไกลเกินกว่าข้อเท็จจริงที่จะตัดสินใจในเรื่องนี้