เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 23 เม.ย. 68 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการในโอกาส ครบรอบความสัมพันธ์ ไทย-กัมพูชาครบ 75 ปี โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรมว.คมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงานร่วมเดินทาง โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีและคณะเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา นางจอม นิมล (H.E. Mrs. Cham Nimul) รมว.พาณิชย์กัมพูชา ในฐานะรัฐมนตรีเกียรติยศ พร้อมคณะฝ่ายกัมพูชาได้ให้การต้อนรับ
ต่อมาเวลา 10.10 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ จากนั้นมีการหารือแบบเต็มคณะกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนด (Samdech Moha Borvor Thipadei HUN Manet) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรี ขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นจากนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและรัฐบาลกัมพูชา ในโอกาสการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อมิตรภาพและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับกัมพูชา เชื่อมั่นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับโลก ไทยและกัมพูชา จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้น และผลักดันความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองได้หารือประเด็นความสัมพันธ์และความร่วมมือที่สำคัญระหว่างกัน ดังนี้ 1. ความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูง มีการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วมกันในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชาแห่งแรก (บ้านหนองเอี่ยน – สตึงบท) อย่างเป็นทางการในปลายปีนี้
2. ความมั่นคง นายกรัฐมนตรีเสนอให้หน่วยงานทหารและความมั่นคงของทั้งสองประเทศหารือร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ ป้องกันความเข้าใจผิด และรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการยกระดับความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ (Online Scams) ระหว่างหน่วยงานตำรวจและฝ่ายปกครอง ผ่านการแบ่งปันพยานหลักฐาน การป้องกันไม่ให้มีการนำสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมไปใช้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เพิ่มมาตรการควบคุมบริเวณชายแดน และป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย การยกระดับความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาหมอกควัน ผ่านการพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังร่วมกัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการตรวจวัด PM2.5 และการทำเกษตรปลอดการเผา (Zero burn Farming )
3. เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่การค้าระหว่างกันในปี 2567 มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเห็นพ้องที่จะวางแนวทางเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ไทยและกัมพูชา ยังเห็นพ้องให้มีการเร่งรัดการประชุม Joint Trade Commission และส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ความร่วมมือระหว่างหอการค้า การอำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนไทยในกัมพูชา ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้สามารถรับมือกับความท้าทายจากภายนอก
– การพัฒนาพื้นที่ชายแดน นายกรัฐมนตรี เสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันวางแนวทางเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้งสองประเทศ พร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกร่วม (Joint Mechanism) ภายใต้คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) เพื่อเร่งรัดการเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชาให้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
– ความเชื่อมโยง ให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพัฒนาบริการขนส่งสินค้าทางราง เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง ตลอดจนให้มีการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนทางถนน เพื่อให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถข้ามพรมแดนได้อย่างสะดวก รวมถึงเร่งรัดการพัฒนาและปรับปรุงโครงการทางหลวงหมายเลข 67 และ 68 ของกัมพูชา ซึ่งจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
– การท่องเที่ยว ให้มีการปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน เพื่อให้สามารถพำนักอยู่ในประเทศได้นานขึ้น การเพิ่มบัตรผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) รวมถึงกัมพูชายินดีเดินหน้าตามแนวคิด Six Countries, One Destination จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดน โดยอาจเริ่มที่การท่องเที่ยวชายฝั่งไทย – กัมพูชา – เวียดนาม ด้วย
– แรงงาน ไทยให้ความสำคัญเรื่องแรงงานกัมพูชาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และรัฐบาลได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการขออนุญาตกลับเข้ามาในราชอาณาจักร (Re – Entry Permit) สำหรับแรงงานกัมพูชาที่ต้องการเดินทางกลับประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งหน่วยงานด้านแรงงานของทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานกัมพูชาได้รับการจ้างงานผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ
4. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ไทยพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่กัมพูชาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำการจัดทำแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระยะ 3 ปี ฉบับต่อไป ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และยืนยันว่า ไทยพร้อมสนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียนภาควิชาภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ และอาคารอบรมของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานไทย – กัมพูชา ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้าน soft power ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์และมิตรภาพในระดับประชาชนกับประชาชนด้วย
5. ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ไทยต้องการให้การค้าและการลงทุนภายในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความเป็นหุ้นทางเศรษฐกิจกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาค โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดีย ไทยพร้อมร่วมมือกับกัมพูชา เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกับจีนและภูมิภาคเอเชียใต้
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในเมียนมา โดยเห็นพ้องกันว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาที่ใกล้ชิดอาจนำไปสู่พัฒนาการในเชิงบวกที่สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือการแพทย์และสนับสนุนการฟื้นฟูในเมียนมาจากสถานการณ์แผ่นดินไหวและพร้อมร่วมมือกับกัมพูชาเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเมียนมามีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกด้วยสันติวิธี