1 กุมภาพันธ์ 2568 06:00 น.




สยามรัฐออนไลน์


การเมือง

ภารกิจของ “พ่อใหญ่ทักษิณ” วันนี้ แม้หลายสิ่งหลายอย่างจะดูหนักหน่วง งานล้นมือ แต่ก็คงไม่เกินกำลัง ของ “ผู้มีอิทธิพล” เหนือพรรคเพื่อไทย ไปได้

สำหรับคนอื่นในวัย 76ปีอาจล้า อาจโรยรา อ่อนแรง แต่สำหรับ คนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องบอกว่ามวยยกนี้เพิ่งเริ่มต้น !

การกลับมาของ ทักษิณบนสังเวียนการเมือง จากวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนถึงวันนี้ ล่วงเข้าปีที่ 2 เสมือนเป็นการ “ชดเชย” ในสิ่งที่เขาเองห่างหายไป ทั้งอำนาจทางการเมืองที่ได้รับจาก “ดีลลับ” ภาคพิสดาร จนทำให้เขาได้กลับบ้านเกิดในรอบ 17ปี จนทำให้เขาเองมั่นใจว่าจะสามารถ “ทวงคืน” ความยิ่งใหญ่ให้กับ พรรคเพื่อไทยได้อีกครั้ง แม้ลึกๆรู้ดีว่า เป็นไปได้ยาก หากจะให้กลับไปเหมือน สมัย “พรรคไทยรักไทย” ในอดีตได้

ภายใต้ดีลลับภาคพิเศษ ครั้งนี้ แม้ทักษิณ ถูกมองว่าเขาเองเหมือนกินดีหมี หัวใจเสือ เพราะการเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มไปด้วยความฮึกเหิมเสียเหลือเกิน ทว่าในอีกด้านหนึ่ง พบว่าจังหวะการรุกของทักษิณ หัวขบวนพรรคเพื่อไทย และผู้มีอิทธิพลเหนือ “นายกฯแพทองธาร ชินวัตร” กลับเร่งรีบ มีแต่รุดเดินไปข้างหน้า ด้วยอาการรีบรน ทำงานแข่งกับเวลาที่กำลัง “นับถอยหลัง”  แม้บ่อยครั้งทักษิณ มักประกาศว่า “รัฐบาลอยู่ครบเทอม” ต่อสาธารณะก็ตาม

เมื่อสถานะของทักษิณ คือศูนย์รวมอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย มีอิทธิพลต่อรัฐบาลผสม จึงไม่แปลกที่การส่งสัญญาณเพื่อขยับเดินหน้า “นโยบาย” เรื่องใด เรื่องหนึ่งผ่านเวทีปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายกอบจ.ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาจึงกลายเป็นเรื่องที่ “ทักษิณ คิด” เพื่อให้ “รัฐมนตรีเพื่อไทย” นำไปทำต่อ ทั้งการประกาศปราบปรามยาเสพติดให้สิ้นซาก การแจกเงินหมื่นให้กับประชาชน ในกลุ่มเปราะบางและผู้สูงอายุ  ทั้ง เฟส 1และเฟส 2

จนมาถึงการชูธงของรัฐบาลด้วยการเปิดเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่กำลังกลายเป็นหนึ่งในนโยบายเรือธงที่ ทักษิณและพรรคเพื่อไทย ต้องออกแรงผลักดันให้สำเร็จ

18 ม.ค.68 ทักษิณ ไปพูดที่นครพนม ระหว่างไปช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายกอบจ. ถึง การผลักดันกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะกลายเป็นแหล่งฟอกเงิน และมีปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย

“ความไม่เข้าใจของคนที่วิจารณ์ก็มีเยอะ การอธิบายยิ่งจำเป็นต้องให้เข้าใจ คนส่วนใหญ่เท่าที่เราทำมา ที่สำรวจมา ก็ชัดเจน แม้ว่าคนที่ไม่เห็นด้วยก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่มาก เพราะทุกเรื่องมันต้องมีคนไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มาก สำคัญคือคนที่เอามาพูดมีข้อมูลข้อเท็จจริงที่ยังไม่ค่อยชัด

บางทีก็ต้องโทษฝ่ายที่ทำกฎหมาย ที่อธิบายไม่ชัดเจน เมื่อทำกฎหมายไปทางกฤษฎีกาก็บอกว่ากฎหมายน่าจะครอบคลุมทางด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ด้วย แต่เขาไประวังกติกาของกาสิโน ที่มีข้อกฎหมายเยอะ จริงๆ แล้วกาสิโนมีเพียงไม่เกิน 10% ของพื้นที่ทั้งหมด”

อย่างไรก็ดี ทักษิณ ยังบอกกับสื่อว่า ไม่ได้กังวลกรณี “ฝ่ายค้าน” ออกมาวิจารณ์ เพราะฝ่ายค้านเองก็เห็นด้วย

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 ม.ค.68 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการ ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำไปปรับปรุงรายละเอียด ก่อนส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

และในระหว่างการแถลงข่าวเรื่องนี้นายกฯแพทองธาร ระบุถึงกรณีที่หลายฝ่ายค่อนข้างกังวลคือกาสิโน ซึ่งจะมีเพียง 10% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวเป็นหลัก ที่จะทำให้ประเทศเติบโตและมีตัวเลขจีดีพีสูงขึ้นอย่างมาก ทั้งหมดจะเกิดผลดีให้กับประเทศในอนาคต

ในระหว่างนี้ ปรากฏว่าเกิดทั้งแรงหนุนและแรงต้าน ร่างกฎหมายฉบับนี้ไปพร้อมๆกันอย่างเข้มข้น แม้รัฐบาล จะให้ข้อมูลคาดการณ์ว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จะเป็นการพลิกฟื้นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ จะเกิดการลงทุนต่อจุดไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 120,000 – 240,000 ล้านบาทต่อปี

ดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 5-10% กระตุ้นการใช้จ่ายในช่วง Low Season ไม่ต่ำกว่า 13% รวมทั้งยังเกิดการจ้างงาน 9,000 – 15,000 ตำแหน่ง สร้างรายได้ให้รัฐไม่ต่ำกว่า 12,000 – 40,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการพนันและรายได้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจอื่นๆ เช่น โรงแรม หรือ สวนสนุก

ทว่า ฝ่ายที่ต่อต้านทั้งฝ่ายการเมือง และกลุ่มการเมืองภาคประชาชน ยังแสดงความกังวลเรื่องการก่ออาชญากรรม การมอมเมาเยาวชน  ได้ไม่คุ้มเสีย ตามมา ทั้งมีการไปยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา  เพื่อขอให้รัฐสภาชะลอการนําเข้าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว และใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติยับยั้งการออกกฎหมาย

อย่างไรก็ดี แรงต่อต้านจากภาคสังคมที่มองเห็นนั้นถือเป็นประเด็นที่รัฐบาลและฝ่ายการเมืองต้องรับฟัง ส่วนจะ “สนองตอบ” แค่ไหนนั้น กลับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  ขณะเดียวกันยังมีความเคลื่อนไหวภายใน “รัฐบาลผสม” ด้วยกันว่า แท้จริงแล้ว ใน “หลักการ” ของร่างกฎหมายฉบับนี้อาจไม่ได้เป็นปัญหาถึงขั้นที่จะ “รับกันไม่ได้”  เพราะต้องไม่ลืมว่า ตามกระบวนการแล้ว คณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะ “ฝ่ายกฎหมายรัฐบาล” มีเวลาในการตรวจสอบ ให้ข้อเสนอแนะ ภายในระยะเวลา 50 วัน ก่อนที่จะร่างจะถูกปรับแก้ไข แล้วส่งไปขอความเห็นชอบจากสภาฯ

แต่เมื่อการเป็นรัฐบาลผสม ในวันนี้ 2568 ย่อมแตกต่างไปจากวันที่ ทักษิณ เป็นหัวหน้ารัฐบาลสมัยไทยรักไทย อย่างสิ้นเชิง เพราะ พรรคเพื่อไทยและทักษิณ ไม่ใช่ผู้ที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ !!

ยิ่งเมื่อ “ภาพลักษณ์” ของทักษิณ ที่ยังสลัดไม่ออกจากข้อครหาว่าด้วยการทุจริต กลายเป็น “จุดอ่อน” ของพรรคเพื่อไทยเอง ยิ่งทำให้จังหวะการเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายคาสิโน นั้นยากจะราบรื่น เพราะเป็นเรื่องยากที่ พรรคร่วมรัฐบาลอื่นจะปล่อยให้พรรคเพื่อไทย ลุยเดี่ยว !

กระทรวงมหาดไทย ทำหนังหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถาบันเทิงครบจร พ.ศ….. จัดเข้าวาระคณะรัฐมนตรี 13 ม.ค.2568  ลงนามโดย “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและรมว.มหาดไทย ระบุสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า กระทรวงมหาดไทยไม่ขัดข้อง กรณีที่กระทรวงการคลังเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว และยินดีให้ความร่วมมือ ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่กระทรวงมหาดไทยรักษา แต่บางกรณี กระทรวงมหาดไทยก็ไม่สามารถอนุญาตได้

นอกจากนี้ในการประชุมครม.ก่อนไฟเขียวนั้นมีรายงานว่า กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า ไม่ขัดข้องในหลักการของร่าง พ.ร.บ. แต่สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กระทบต่อภารกิจของ มหาดไทยค่อนข้างมาก จึงอาจพิจารณาให้ รมว.มหาดไทยทำหน้าที่รักษาการร่วมในร่าง พ.ร.บ.นี้ และคงไว้ซึ่งหน้าที่และอำนาจของเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สถานบันเทิงครบวงจร

อย่างไรก็ดี การผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ สำหรับทักษิณ แล้วดูเหมือนว่าเขาเองมีหมุดหมายที่จะต้องผลักดันให้จบภายในปีนี้ พร้อมทั้งบอกไทม์ไลน์ชัดเจน ว่าเรื่องกฎหมาย พยายามทำให้พร้อมภายในปีนี้ และต้นปีหน้าอาจจะเป็นการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดู เรื่องการวางกติกาและรายละเอียด

เมื่อทักษิณ ส่งสัญญาณผ่านเวทีปราศรัย ด้วยความมั่นใจ แต่เขาเองอาจลืมไปว่า ก่อนหน้านี้กว่าที่พรรคเพื่อไทยในยุคอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน จะผลักดันเรื่องการแจกเงินหมื่น ก็สุดจะยากเย็น ต้องเจอกับแรงต้านและสารพัดคำร้องจากนักร้องไปยังองค์กรอิสระ ต่างๆ จนมาถึงยุครัฐบาลนายกฯแพทองธาร ต้องปรับเปลี่ยนมาสู่การ “แจกเงินสด” และเร่งทำเท่าที่จะทำได้ ผ่านเฟส 1 และเฟส 2ไปแล้ว แต่สำหรับการเดินลุยอภิมหาโปรเจกต์ใหญ่อย่างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งยังต้องอาศัย “แรงหนุน” จากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองในท่ามกลาง “รอยร้าว” ที่ก่อตัวขึ้นจากการเลือกตั้งนายกอบจ. และปัญหาทางการเมืองก่อนหน้านี้

ยังไม่นับว่า เมื่อร่างกฎหมาย เข้าสู่สภาฯ แล้วจะได้ไฟเขียว จากสภาล่างอันต้องใช้ “เสียงข้างมาก” ของรัฐบาลผสมโหวตให้แล้ว อย่าลืมว่ายังมี “สภาสูง” ที่พรรคภูมิใจไทย เป็นเหมือนเจ้าของ “สว.สายสีน้ำเงิน” มีจำนวนสว.ในมือกว่าครึ่งค่อนวุฒิสภา จะเทเสียงให้ผ่านอย่างฉลุยหรือไม่

และกว่าจะไปถึงวันนั้น เสถียรภาพของรัฐบาลผสม จะยังเหนียวแน่นมากพอที่จะการันตีร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเม้นต์คอมเพล็กซ์อยู่หรือไม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ข้อยาก ที่ทักษิณ รู้ดีว่าเขาต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลาที่เหลือน้อยลงทุกที ถึงด้านหนึ่งจะรู้ดีว่าหลายพรรคการเมือง รวมถึงพรรคฝ่ายค้านเองก็ไม่ได้ “ต่อต้าน”ก็ตาม

แต่เมื่อเหตุและปัจจัยการขับเคลื่อนนโยบายนั้นยังต้องเดินไปพร้อมๆกับเกมการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา !